5 วิธีฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเอง

      

 

ทุกวันนี้ชีวิตวัยทำงานของเรามีแต่ความเร่งรีบ แหกขี้ตาตื่นเช้าขับรถฝ่ารถติดไปทำงาน บางคนต้องไปส่งลูกเรียนหนังสือ ตกเย็นรีบขับรถกลับบ้านฝ่ารถติดอีกรอบ ถึงบ้านทานข้าวกับครอบครัว นั่งคุยกันไม่เท่าไหร่สามสี่ทุ่มเข้านอน วันนึงๆ หมดไปกับการใช้งาน แทบไม่เหลือใช้ชีวิต สำหรับคนวัยทำงานที่ชอบเล่นดนตรีเล่นกีต้าร์ ก็คงไม่แปลกอะไรถ้าจะไม่มีเวลาไปเรียนกีต้าร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่จะเล่นคนเดียวไปเรื่อยเปื่อยก็ไม่พัฒนาสักที บางคนเวลาพอมี แต่เศรษฐกิจฝืดๆ แบบช่วงนี้ อะไรประหยัดได้ก็ควรประหยัด จะไปลงเรียนเดือนเป็นพันคงไม่ไหว ทำไงดี?

         วันนี้เราเลยรวบรวม 5 วิธีฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเองมาให้ เผื่อเอาไปปรับใช้กัน วิธีไหนเหมาะสุดก็ลองเลือกใช้กันดูนะ

 

5 วิธีฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเอง

1. ฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเองด้วยการแกะเพลง

หัดกีต้าร์ด้วยตัวเอง-แกะเพลง

แน่นอนว่าคงไม่มีวิธีการฝึกกีต้าร์ด้วยตนเองวิธีไหนจะคลาสสิคไปกว่าการแกะเพลงเองอีกแล้ว ก็เพราะวิธีนี้มิใช่หรือที่พาพวกเรามาเจอกันในยุทธจักรกีต้าร์ และพาเพื่อนๆมานั่งอ่านบทความนี้อยู่ การแกะเพลงที่ชอบนั้นนอกจากทำให้เราสนุกมากกว่าการนั่งฝึกสเกลน่าเบื่อๆแล้ว ลองเริ่มจากการหาเทคนิคแกะเพลงง่ายๆ ซึ่งการแกะเพลงยังทำให้เราได้ฝึกกล้ามเนื้อนิ้ว ฝึกการเล่นไปในเวลาเดียวกัน ถ้าเพลงไหนยากไปแกะเองหมดไม่ไหวก็เสิร์ชหา tabs หรือทริคต่างๆ ทาง Youtube หรือตามเว็บต่างๆก็ได้

แต่จุดด้อยของการฝึกฝนจากการแกะเพลงก็คือ เพลง ไม่ใช่บทเรียน ไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นผลผลิตปลายทางที่คนสร้างเขาสร้างจากความรู้ทางดนตรีที่เขามี การแกะเพลงอาจฝึกทักษะในการเล่น แต่ไม่ได้สอนทฤษฎีหรือบอกที่มาของไอเดีย ดังนั้นถ้าต้องการความรู้พื้นฐานเพื่อต่อยอดไอเดียทางดนตรี แนะนำว่าต้องมีการศึกษาความรู้ทางทฤษฎีกันหน่อยจะดีกว่า


2. ซื้อหนังสือทฤษฎีดนตรีมาฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเอง

เป็นวิธีคลาสสิคสำหรับการฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเองอย่างถูกต้องตามทฤษฎี ตำราฝึกกีต้าร์มีเนื้อหาหลายแนวดนตรีให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะร็อก บลูส์ แจ๊ส ส่วนใหญ่มักมี CD เสียงของแบบฝึกหัดในหนังสือแถมมาให้ด้วย ข้อดีของหนังสือทฤษฎีหรือตำราคือ มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด มีชื่อผู้เขียน สำนักพิมพ์เป็นหลักแหล่งอ้างอิงได้ มีการเรียบเรียงเนื้อหาที่เป็นระเบียบเป็นขั้นตอนแทบไม่ต่างอะไรกับลงคลาสเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ต่างกันก็แค่ไม่มีคนมายืนสอนเราเท่านั้นเอง บางคนเป็นหนอนหนังสืออยู่แล้ว การซื้อตำราก็เหมือนได้หนังสือเพิ่มบนชั้นวางอีกเล่ม ดูขลังทรงภูมิปัญญาอะไรปานนั้น

ข้อเสียก็คือ ตำราไทยค่อนข้างมีจำกัดไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนัก ส่วนตำราดีๆ โดยเฉพาะตำราต่างประเทศก็มีราคาที่สูงเอาเรื่องสำหรับหนังสือหนึ่งเล่ม บ่อยครั้งที่ไม่มีขายในบ้านเรา ต้องสั่งจากเว็บ Amazon.com เสียค่าส่งมาไทยอีกหลายร้อยบาท แต่คิดอีกแง่นึง มันก็เป็นการลงทุนครั้งเดียวและความรู้ได้มามีความถาวร ไม่ถูกลบสูญหายไปไหน ถ้ามองระยะยาว วิธีการฝึกด้วยหนังสือก็ให้อะไรมากกว่าที่คิด


3. ฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเองจาก Youtube.com

หัดกีต้าร์ด้วยตัวเอง-ดูยูทูปปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คงเป็นสื่อการสอนที่ฮิตที่สุดของชั่วโมงนี้แล้ว ด้วยคลิปวิดีโอโชว์การเล่นมากมาย อยากดูอะไรก็มีหมด แถมดูฟรี ดูได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ท จึงทั้งสะดวก รวดเร็วทันใจมือกีต้าร์หน้าจอทั้งหลาย

แต่ ข้อเสียของการฝึกกีต้าร์จาก Youtube คือ มันเป็นแหล่งข้อมูลที่ต่างคนต่างอัพโหลดขึ้นไป ไม่มีการจัดระเบียบแบบแผนการเรียนการสอน คลิปส่วนใหญ่ที่ทำขึ้นมักเป็นแบบรวบรัด ตัดเอามาแต่ตอนที่น่าสนใจมานำเสนอ แต่มักขาดความต่อเนื่อง มีผู้ทำ content ไม่น้อยที่ใช้ช่องทางนี้ปล่อยคลิปตัวอย่างการเล่นหรือการฝึกเพื่อโปรโมทคอร์สออนไลน์ที่ตัวเองทำขึ้น (ซึ่งเป็นช่องทางแบบเก็บเงิน) ดังนั้น สำหรับคนที่จะฝึกจาก youtube นั้น ถ้าแค่ต้องการฝึกเป็นเรื่องๆ หรือแกะเพลงเป็นเพลงๆ ก็โอเคอยู่ แต่ถ้าต้องการเนื้อหาที่เป็นระเบียบเพื่อเบสิคที่แน่น แนะนำว่าให้ศึกษาจากช่องทางอื่นเพิ่มเติมด้วยจะดีกว่า


4. ฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเองจากแอพฯสอนเล่นกีต้าร์บน mobile application

อย่างที่บอก สมัยนี้ใครๆก็มีอินเทอร์เน็ทในมือ และส่วนใหญ่ก็เข้าเน็ทกันทางมือถือ จึงมีผู้พัฒนาแอพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟนและแทเบล็ท แอพฯสอนเล่นกีต้าร์เหล่านี้ก็มีหลากหลายเจ้า มีการนำเสนอจุดขายที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นแอพ Ultimate Guitar ที่ชูจุขายด้วย tabs กีต้าร์นับล้านเพลง เทคนิคการเล่น วิธีวางนิ้ว มีระบบช่วยเลือกเพลงที่น่าจะเหมาะกับผู้ใช้ ฯลฯ แอพมือถือแบบนี้จะมีเนื้อหาบางส่วนที่เปิดให้ดูฟรี แต่ถ้าจะเข้าไปดูลึกๆ ฝึกเพลงเยอะๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่แพง คือปีนึงก็แค่หลักร้อยหรืออย่างมากก็พันบาท และอะไรที่เราต้องเสียเงินซื้อมา (ส่วนใหญ่) เราจะให้ความสำคัญกับมันมากกว่าของที่ได้มาฟรีๆ แถมการเรียนรู้ผ่านแอพนั้น เปิดดูที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องแบกตำราออกไปอ่าน

ข้อเสียก็มีบ้าง คืออย่างว่าแหละ มันไม่ฟรี และค่าสมาชิกก็อาจไม่ได้จ่ายครั้งเดียวใช้งานได้ทั้งชีวิตเหมือนการซื้อตำรา อีกอย่างปริมาณเนื้อหาความรู้และการเรียบเรียงก็ไม่ละเอียดเท่าหนังสือ ด้วยข้อจำกัดของการอ่านด้วยอุปกรณ์ซึ่งไม่เหมาะกับการเอามาอ่านข้อมูลปริมาณเยอะๆเหมือนอ่านหนังสือ


5.ฝึกกีต้าร์ด้วยตัวเองด้วยการซื้อคอร์สเรียนออนไลน์

สมัย 10-15 ปีก่อนยังมีคนทำ DVD สื่อการเรียนการสอนขายเยอะ แต่สมัยนี้ใครๆ ก็มีอินเทอร์เน็ทอยู่ในมือ สวนทางกับจำนวนเครื่องเล่น DVD ที่ทุกวันนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงแทบไม่มีใครเสียเงินซื้อหา DVD มาดูกันแล้ว ผู้สอนยุคใหม่จึงปรับตัวหันไปทำคลิปสื่อการสอนอัพโหลดไว้ ใครอยากเข้าไปดูไปเรียนก็จ่ายค่าสมาชิก ผู้สอนก็จะให้ Username และรหัสผ่านเข้าไปดูไปฝึก พร้อมตอนไหนก็เข้าไปดู แถมถ้าไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถสอบถามผ่านแชทกับตัวผู้สอนได้เองอีกต่างหาก วิธีการเรียนกีต้าร์แบบนี้นับว่าเป็นวิธีที่ดีมากๆ เพราะมีการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นลำดับหมวดหมู่ไม่ต่างจากการสอนแบบตัวต่อตัว แต่ไม่ต้องถ่อสังขารหรือล็อกเวลาว่างอันน้อยนิดเพื่อไปเรียนทุกเดือน ที่เหลือก็แค่เลือกคนสอนที่ดูแล้วมีความรู้จริง สามารถเรียนแล้วเอามาต่อยอดทางไอเดียได้ด้วยก็จะดีมาก ไม่ใช่สอนเล่นสอนปั่นอย่างเดียว

ส่งท้าย

ก็ลองเลือกเอาดูนะว่าแบบไหนเวิร์คสุด แนะนำว่าลองหลายๆวิธี เพื่อความหลากหลาย เช่น มีหนังสือสอนทฤษฎีเพลงร็อก แต่ก็อาจลองหาแบบฝึกหัดตาม Youtube ฝึกควบคู่กันไปด้วย เพื่อหาไอเดียเพิ่มเติม แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน อยากให้ทุกคนตั้งเป้าการฝึกเอาไว้ว่าอยากเล่นอะไรให้เก่งขนาดไหน และมีวินัยในการฝึก แม้เราจะไม่มีเทรนเนอร์มาคอยติดตามผล แต่เราก็ต้องมีเป้าหมายและซื่อสัตย์กับตัวเอง จึงจะเกิดการพัฒนา ไม่ว่าเราจะฝึกฝนตัวเองในรูปแบบไหนก็ตาม และถ้าพอมีวันว่าง แนะนำว่าควรนัดแจมกับเพื่อน เตรียมเพลงง่ายๆ ที่ทุกคนชอบเหมือนกันไปเล่นด้วยกัน


ซื้อเครื่องดนตรีได้ที่ร้านขายเครื่องดนตรี BigTone 

** ติดต่อ สั่งซื้อ หรือ สอบถามเพิ่มเติม คลิกเลย!!

 

    Leave a Reply